Month: สิงหาคม 2020

ความหวังที่เบ่งบาน

ในเมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อพื้นที่ที่มีหญ้าขึ้นรกได้รับการถางและทำให้สดใสด้วยดอกไม้และต้นไม้ที่สวยงาม ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นก็พลอยมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นไปด้วย นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่เป็นความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ

“มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าพื้นที่สีเขียวนั้นส่งผลต่อสุขภาพจิต” ดร.ยูจิเนีย เซาท์กล่าว “และนั่นเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะกับคนที่อาศัยในย่านที่ยากจน” เซาท์เป็นอาจารย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และเป็นผู้เขียนร่วมของงานวิจัยชิ้นนี้

คนอิสราเอลและยูดาห์ที่ถูกข่มเหงได้พบความหวังใหม่ในนิมิตของผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ ที่พระเจ้าจะรื้อฟื้นพวกเขาขึ้นใหม่อย่างงดงาม ในท่ามกลางการลงโทษและการพิพากษาที่อิสยาห์ได้พยากรณ์ไว้ก่อนหน้านั้น พระสัญญาที่นำความหวังอันสดใสนี้ได้หยั่งรากลง “ถิ่นทุรกันดารและที่แห้งแล้งจะยินดี ทะเลทรายจะเปรมปรีดิ์และผลิดอกอย่างต้นดอกฝรั่น มันจะออกดอกอุดมและเปรมปรีดิ์ด้วยความชื่นบานและการร้องเพลง” (อสย.35:1-2)

ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรในวันนี้ เราสามารถชื่นชมยินดีในวิถีทางอันงดงามที่พระบิดาในสวรรค์ทรงรื้อฟื้นเราด้วยความหวังที่สดใหม่และการทรงสร้างของพระองค์ เมื่อเราท้อแท้ การใคร่ครวญถึงพระสิริและความงดงามของพระเจ้าจะช่วยให้เรามีกำลังขึ้น อิสยาห์หนุนใจเราว่า “จงหนุนกำลังของมือที่อ่อนและกระทำหัวเข่าที่อ่อนให้มั่นคง” (ข้อ 3)

ดอกไม้เพียงไม่กี่ดอกจะจุดประกายความหวังของเราอีกครั้งได้หรือไม่ ผู้เผยพระวจนะตอบว่า ได้ พระเจ้าผู้ทรงประทานความหวังให้กับเราก็เช่นกัน

งานที่ยิ่งใหญ่

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจพบและแกะเทปกาวที่มีคนเอามาติดไว้เพื่อกันไม่ให้ประตูปิด เมื่อเขากลับมาตรวจสอบประตูอีกก็พบว่ามีเทปกาวมาติดไว้เหมือนเดิม เขาโทรเรียกตำรวจและสามารถจับกุมนักย่องเบาได้ 5 คน

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้นี้ทำงานอยู่ที่อาคารวอเตอร์เกทในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองใหญ่ในอเมริกา และเขากลายเป็นผู้เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต เพียงเพราะเขาปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังและเต็มที่

เนหะมีย์เริ่มบูรณะกำแพงขึ้นใหม่รอบๆกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นงานที่ท่านทำอย่างจริงจัง ขณะที่การบูรณะซ่อมแซมใกล้จะเสร็จ ศัตรูที่อยู่ล้อมรอบก็นัดท่านลงไปพบที่หมู่บ้านข้างเคียง คำเชิญที่ดูเป็นมิตรนี้แท้จริงคือกับดักที่เป็นกลลวง (นหม.6:1-2) แต่คำตอบของเนหะมีย์แสดงถึงความแน่วแน่ของท่าน “ข้าพเจ้ากำลังทำงานใหญ่ ลงมาไม่ได้ ทำไมจะให้งานหยุดเสียในขณะที่ข้าพเจ้าทิ้งงานลงมาหาท่าน” (ข้อ 3)

แม้เนหะมีย์พอจะมีอำนาจอยู่บ้าง แต่ท่านก็ไม่ใช่วีรบุรุษในอันดับต้นๆ ท่านไม่ได้เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่กวีหรือผู้เผยพระวจนะ ไม่ใช่กษัตริย์หรือนักปราชญ์ ท่านเป็นแค่พนักงานเชิญถ้วยเสวยที่ผันตัวเองมาเป็นผู้รับเหมา แต่ท่านเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่สำคัญสำหรับพระเจ้า ขอให้เราจริงจังกับงานที่พระเจ้ามอบหมายและทำสิ่งนั้นอย่างดีโดยอาศัยฤทธิ์เดชและการจัดเตรียมของพระองค์

ดำเนินชีวิตตามพระประสงค์

“เรากำลังจะไปพักผ่อนกัน” ภรรยาของผมบอกกับออสตินหลานชายวัยสามขวบด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นขณะที่นำรถเข้าจอดข้างทางในช่วงขาไปของการเดินทาง ออสตินน้อยมองดูเธออย่างครุ่นคิดและพูดว่า “ผมไม่ได้ไปพักผ่อน ผมกำลังไปทำพันธกิจ”

เราไม่แน่ใจว่าหลานชายเราเอาแนวคิดเรื่องการไป “ทำพันธกิจ” มาจากไหน แต่สิ่งที่เขาพูดนั้นทำให้ผมต้องใคร่ครวญระหว่างที่ขับรถไปยังสนามบินว่า ในช่วง 2-3 วันที่เดินทางไปพักผ่อนนี้ ผมระลึกอยู่เสมอหรือไม่ว่าผมยังคง “ทำพันธกิจ” โดยการใช้ทุกช่วงเวลาของชีวิตกับพระองค์และเพื่อพระองค์ ผมคิดอยู่เสมอว่าผมกำลังปรนนิบัติพระองค์ในทุกสิ่งที่ผมทำหรือไม่

อัครทูตเปาโลหนุนใจผู้เชื่อในกรุงโรมเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันว่า “อย่าอ่อนระอา จงมีจิตใจกระตือรือร้นด้วยพระวิญญาณ จงปรนนิบัติองค์พระผู้เป็นเจ้า” (รม.12:11) ประเด็นของท่านคือ เราที่มีชีวิตอยู่ในพระเยซูนั้นต้องดำเนินชีวิตด้วยความตั้งใจและความกระตือรือร้น แม้กระทั่งในช่วงเวลาปกติ ชีวิตของเราก็จะมีความหมายใหม่เมื่อเรามองไปที่พระเจ้าด้วยความคาดหวังและดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์

ขณะที่เรานั่งอยู่บนเครื่องบิน ผมอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์เป็นของพระองค์ โปรดช่วยที่ข้าพระองค์จะไม่พลาดไปจากสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์สำหรับการเดินทางครั้งนี้”

ทุกๆวันเป็นพันธกิจที่มีความสำคัญเป็นนิตย์ร่วมกับพระองค์

ตั้งชื่อโดยพระเจ้า

สายต้าน แม่ค้างคาวสาว จอมถ่ายพลัง ฉายาเหล่านี้เป็นคำที่เราใช้เรียกผู้ให้คำปรึกษาในค่ายฤดูร้อนที่ครอบครัวเราไปเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี ชื่อเล่นที่เพื่อนร่วมค่ายตั้งให้นี้มักมาจากเหตุการณ์ที่น่าขายหน้า อุปนิสัยที่ตลก หรืองานอดิเรกที่คนๆนั้นชื่นชอบ

ฉายาเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในค่าย แต่เรายังพบในพระคัมภีร์อีกด้วยตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงขนานนามอัครทูตยากอบและยอห์นว่า “ลูกฟ้าร้อง” (มก.3:17) ไม่บ่อยนักที่บุคคลในพระคัมภีร์จะตั้งฉายาให้กับตัวเอง แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อหญิงที่ชื่อนาโอมีให้คนเรียกเธอว่า “มารา” ซึ่งแปลว่า “ขมขื่น” (นรธ.1:20) เพราะทั้งสามีและลูกชายสองคนของเธอเสียชีวิต เธอรู้สึกว่าพระเจ้าทำให้ชีวิตของเธอขมขื่น (ข้อ 21)

อย่างไรก็ตาม ชื่อใหม่ที่นาโอมีใช้เรียกตัวเองไม่ได้ติดตัวเธอไป เพราะความสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้ไม่ใช่จุดจบในเรื่องราวของเธอ ท่ามกลางความเศร้าโศกนั้น พระเจ้าทรงอวยพรเธอผ่านทางนางรูธลูกสะใภ้ที่แสนดี ซึ่งในที่สุดก็ได้แต่งงานใหม่และมีบุตรชายหนึ่งคน ส่งผลให้นาโอมีได้มีครอบครัวใหม่อีกครั้ง

แม้บางครั้งเราอาจถูกทดลองให้ตั้งฉายาที่ขมขื่นให้ตัวเอง เช่น “ไอ้ขี้แพ้” หรือ “คนไม่น่ารัก” ตามความทุกข์ยากลำบากที่เราเผชิญหรือข้อผิดพลาดที่เราทำ แต่ชื่อเหล่านั้นไม่ใช่จุดจบของเรื่องราวทั้งหมดในชีวิต เราสามารถแทนที่คำตราหน้าเหล่านั้นด้วยชื่อที่พระเจ้าประทานให้ คือ “เป็นที่รัก” (รม.9:25) และมองหาหนทางที่พระองค์ทรงจัดเตรียมให้กับเราแม้กระทั่งในเวลาที่ท้าทายที่สุด

บนฟองสบู่

บทความในข่าวเดือนพฤษภาคม ปี 1970 มีการนำสำนวน “บนฟองสบู่” มาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อพูดถึงสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของสตีฟ คริสซิลอฟ นักแข่งรถมือใหม่ เขาอยู่ “บนฟองสบู่” เพราะทำเวลาได้ไม่ดีในรอบทดสอบของการแข่งรถอินเดียนาโพลิส 500 ซึ่งต่อมามีการยืนยันว่า เวลาที่เขาทำแม้จะช้าที่สุด แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ทำให้เขาสามารถลงสนามได้

บางครั้งเราก็รู้สึกเหมือน “อยู่บนฟองสบู่” คือไม่แน่ใจว่าเรามีคุณสมบัติพอจะลงสนามหรือเข้าเส้นชัยในการแข่งขันของชีวิตหรือไม่ เมื่อรู้สึกเช่นนั้นสิ่งสำคัญคือต้องระลึกว่า ในพระเยซูเราไม่มีวัน “อยู่บนฟองสบู่” ในฐานะบุตรของพระเจ้า เรามีที่อาศัยที่แน่นอนในแผ่นดินของพระเจ้า (ยน.14:3) ความเชื่อมั่นของเรามาจากพระองค์ผู้ทรงเลือกพระเยซูให้เป็น “ศิลาหัวมุม” ที่ชีวิตของเราถูกก่อร่างสร้างขึ้นและทรงเลือกเราให้เป็น “ศิลาที่มีชีวิต” ที่เปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเป็นคนในแบบที่พระเจ้าทรงสร้างให้เราเป็น (1 ปต.2:5-6)

ในพระคริสต์ เราจะมีอนาคตที่แน่นอนเมื่อเรามีความหวังและติดตามพระองค์ (ข้อ 6) เพราะ “ท่านทั้งหลายเป็นชาติที่พระองค์ทรงเลือกไว้แล้ว เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นประชาชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติของพระเจ้าโดยเฉพาะเพื่อให้ท่านทั้งหลายประกาศพระบารมีของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกมาจากความมืด เข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์” (ข้อ 9)

ในสายพระเนตรของพระเยซู เราไม่ได้“ อยู่บนฟองสบู่” เรามีค่าและเป็นที่รัก (ข้อ 4)

จดหมายข้ามกาลเวลา

มีเยาวชนกว่าล้านคนที่เข้าร่วมในการแข่งขันเขียนจดหมายระหว่างประเทศในแต่ละปี ในปี 2018 หัวข้อการแข่งขันคือ “สมมติว่าคุณเป็นจดหมายที่เดินทางผ่านกาลเวลา คุณจะสื่อข้อความอะไรกับผู้อ่าน”

ในพระคัมภีร์ก็มีจดหมายหลายฉบับที่เดินทางผ่านกาลเวลามาถึงเราโดยการดลใจและการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อคริสตจักรเติบโตขึ้น บรรดาสาวกของพระเยซูก็เขียนถึงคริสตจักรท้องถิ่นทั่วทวีปยุโรปและเอเชียน้อยเพื่อให้ความเข้าใจถึงชีวิตใหม่ของพวกเขาในพระคริสต์ โดยจดหมายเหล่านั้นหลายฉบับถูกรวบรวมไว้ในพระคัมภีร์ที่เราอ่านกันในปัจจุบัน

ผู้เขียนจดหมายเหล่านี้ต้องการบอกอะไรกับผู้อ่านน่ะหรือ ยอห์นอธิบายไว้ในจดหมายฉบับแรกของท่านเกี่ยวกับสิ่ง “ซึ่งมีตั้งแต่ปฐมกาล ซึ่งเราได้ยิน ซึ่งเราได้เห็นกับตา ซึ่งเราได้พินิจดู และจับต้องด้วยมือของเรานั้นเกี่ยวกับพระวาทะแห่งชีวิต” ท่านเขียนถึงประสบการณ์ที่ท่านได้เผชิญหน้ากับพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์ (1 ยน.1:1) เพื่อที่ผู้อ่านจะได้ “ร่วมสามัคคีธรรม” กับผู้อื่นและกับ “พระบิดาและกับพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์” (ข้อ 3) โดยท่านกล่าวว่า เมื่อเราสามัคคีธรรมกัน ความปลาบปลื้มยินดีของเราจะเต็มเปี่ยม (ข้อ 4) จดหมายในพระคัมภีร์นำเราเข้าสู่การสามัคคีธรรมที่อยู่เหนือกาลเวลา นั่นคือการได้สามัคคีธรรมกับพระเจ้าผู้เป็นนิรันดร์

การสิ้นพระชนม์ที่ทำให้เรามีชีวิต

ในระหว่างการทำพันธกิจกับนักโทษชายในเรือนจำที่มีการใช้ความรุนแรงมากที่สุดของแอฟริกาใต้ โจแอนนา แฟลนเดอร์ส โธมัส ได้เป็นพยานถึงฤทธิ์เดชของพระคริสต์ในการเปลี่ยนแปลงจิตใจ ในหนังสือชื่อ พระคุณที่หายไป ฟิลิป แยงซีได้อธิบายถึงประสบการณ์ของเธอว่า “โจแอนนาเริ่มออกไปเยี่ยมนักโทษทุกวัน ประกาศข่าวประเสริฐที่เรียบง่ายเรื่องการให้อภัยและคืนดีกับพวกเขา เธอได้รับความไว้วางใจจนพวกเขายอมเล่าประสบการณ์ในวัยเด็กที่ถูกล่วงละเมิดให้ฟัง และเธอบอกพวกเขาถึงวิธีที่ดีกว่าในการจัดการความขัดแย้ง จากสถิติของเรือนจำพบว่า ในปีก่อนที่เธอจะมาเยี่ยมมีการใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องขังและผู้คุม 279 ครั้ง แต่ในปีถัดมาตัวเลขลดลงเหลือเพียง 2 ครั้ง”

เปาโลเขียนว่า “เหตุฉะนั้น ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ ผู้นั้นก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งสารพัดที่เก่าๆก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น” (2 คร.5:17) เราอาจไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือเหมือนโจแอนนา แต่ฤทธิ์เดชของพระกิตติคุณซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตนี้เป็นพลังที่ให้ความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล เป็นสิ่งที่ถูกสร้างใหม่ ช่างเป็นความคิดที่น่าทึ่ง! การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่การเป็นเหมือนพระองค์ ซึ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อเราได้พบพระองค์แบบหน้าต่อหน้า (ดู 1 ยน.3:1-3)

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เราเฉลิมฉลองชีวิตที่ถูกสร้างใหม่ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าพระคริสต์ทรงจ่ายราคาเพื่อสิ่งนั้น ความตายของพระองค์ทำให้เรามีชีวิต “เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงกระทำพระองค์ผู้ทรงไม่มีบาปให้บาป เพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมของพระเจ้าทางพระองค์” (2 คร.5:21)

ปล่อยไป

“พ่อของคุณกำลังจะจากไป” พยาบาลที่บ้านพักผู้ป่วยระยะสุดท้ายกล่าว “กำลังจะจากไป” หมายถึงช่วงสุดท้ายของคนที่ใกล้เสียชีวิตและเป็นคำที่ฟังดูแปลกๆสำหรับฉัน เหมือนกับการเดินทางไปบนถนนที่ปราศจากผู้คนโดยไม่มีวันกลับ ในวาระสุดท้ายของพ่อ ฉันกับพี่สาวนั่งอยู่ข้างเตียงโดยไม่รู้ว่าพ่อยังได้ยินเราหรือไม่ เราจูบศีรษะงดงามปราศจากผมของท่านและกระซิบพระสัญญาของพระเจ้า เราร้องเพลง “พระองค์ผู้ทรงสัตย์ซื่อ” และท่องสดุดีบทที่ 23 เราบอกรักท่านและขอบคุณที่มีท่านเป็นพ่อ เรารู้ว่าใจของท่านปรารถนาที่จะไปอยู่กับพระเยซู เราจึงบอกให้ท่านไป การพูดประโยคนี้ออกมาเป็นขั้นแรกที่เจ็บปวดของการปล่อยมือ อีกไม่กี่นาทีต่อมาพ่อของเราก็ได้รับการต้อนรับเข้าสู่บ้านอันเป็นนิรันดร์ด้วยความยินดี

การยอมปล่อยให้คนที่คุณรักจากไปนั้นเป็นเรื่องที่เจ็บปวด แม้กระทั่งพระเยซูยังร้องไห้เมื่อลาซารัสสหายรักของพระองค์สิ้นชีวิต (ยน.11:35) แต่เพราะพระสัญญาของพระเจ้า เราจึงมีความหวังที่มากกว่าความตายฝ่ายร่างกาย สดุดี 116:15 กล่าวว่า “ธรรมิกชน” คือคนเหล่านั้นที่เป็นของพระองค์ “สำคัญ” ในสายพระเนตรของพระเจ้า แม้ว่าพวกเขาจะเสียชีวิต แต่พวกเขาจะกลับมีชีวิตอีกครั้ง

พระเยซูทรงสัญญาว่า “เราเป็นเหตุให้คนทั้งปวงเป็นขึ้นและมีชีวิต ผู้ที่วางใจในเรานั้น ถึงแม้ว่าเขาตายแล้วก็ยังจะมีชีวิตอีก และทุกคนที่มีชีวิตและวางใจในเราจะไม่ตายเลย” (ยน.11:25-26) การได้รู้ว่าเราจะได้อยู่กับพระเจ้าตลอดไปเป็นนิตย์นั้นช่วยปลอบประโลมใจเราได้จริงๆ

ในวิถีทางของพระเจ้า

ในปี 1960 ชุมชนที่คึกคักของนอร์ธ ลอว์นเดล ทางฝั่งตะวันตกของชิคาโก เป็นชุมชนนำร่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ชาวแอฟริกันอเมริกันซึ่งเป็นชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งได้ซื้อบ้านในชุมชนนี้ภายใต้ “สัญญา” ซึ่งผนวกความรับผิดชอบในการเป็นเจ้าของบ้านเข้ากับข้อเสียในการเช่าบ้าน ในสัญญาซื้อขาย ผู้ซื้อไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและหากผิดนัดชำระเพียงครั้งเดียว เขาจะสูญเงินดาวน์และค่างวดที่ชำระรายเดือนทั้งหมด รวมทั้งบ้านที่เขาซื้อด้วย ผู้ขายที่ไร้จรรยาบรรณขายบ้านในราคาสูงเกินจริง หลายครอบครัวจึงถูกไล่ออกเมื่อผิดนัดชำระ และครอบครัวใหม่จะเข้ามาซื้อต่อด้วยเงื่อนไขสัญญาแบบเดียวกัน และวัฏจักรซึ่งขับเคลื่อนด้วยความโลภก็ดำเนินต่อไป

ซามูเอลแต่งตั้งบุตรชายให้เป็นผู้วินิจฉัยคนอิสราเอลและบุตรของท่านมีใจโลภ พวกเขา “มิได้ดำเนินในทางของท่าน” (1 ซมอ.8:3) ตรงข้ามกับซามูเอลที่ซื่อสัตย์ บุตรชายของท่าน “ได้เลี่ยงไปหากำไร” และใช้ตำแหน่งเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเอง พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับพวกผู้อาวุโสของอิสราเอลและทำให้พระเจ้าไม่พอพระทัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรกษัตริย์ในพันธสัญญาเดิม (ข้อ 4-5)

การปฏิเสธที่จะเดินในทางของพระเจ้าเปิดช่องให้ค่านิยมเหล่านั้นถูกบิดเบือนและทำให้ความอยุติธรรมจำเริญขึ้น การเดินในทางของพระเจ้าหมายถึง ความซื่อสัตย์และความยุติธรรมที่สำแดงอย่างชัดเจนทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ การกระทำที่ดีเหล่านั้นไม่ได้จบในตัวของมันเอง แต่จะช่วยให้ผู้อื่นมองเห็นและยกย่องพระบิดาในสวรรค์ของเราเสมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา